มือใหม่ต้องอ่าน
เนื่องจากปัจจุบันนี้ จานดาวเทียมมีราคาถูกลงมาก จนใคร ๆ ก็สามารถซื้อหามาติดตั้งได้ บางท่านก็ติดตั้งเอง เพราะจานมีขนาดเล็กลงจนติดตั้งเองได้สะดวก อีกทั้งมีคู่มือและข้อมูลการติดตั้งแบบเปิดเผยซึ่งหาได้ไม่ยาก เลยทำให้การติดตั้งจานดาวเทียม เป็นของเล่นหรืองานอดิเรกจนกระทั่งเป็นอาชีพเสริม สำหรับบางคนไปเลยก็มี
แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ หรือพึ่งเริ่มเข้ามาศึกษา ทำให้เกิดคำถามมากมาย ซึ่งเป็นคำถามที่คนตอบอาจไม่ค่อยอยากตอบสักเท่าไร เช่น จานดาวเทียมคืออะไร ต่างกันอย่างไร รับอะไรได้บ้าง ขอข้อมูลโดยละเอียด อันนี้เป็นคำถามซึ่งท่านที่ถามยังไม่มีข้อมูลอะไรเลย ต้องแนะนำให้หาอ่านและค้นคว้าข้อมูลไปสักพักก่อน บางคนเปิดเว็บเจอแล้วก็ถามไปเรื่อย ๆ ทีละตัว ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย อย่างนี้ต้องเห็นใจร้านค้าด้วยนะครับ
เมื่อไม่ได้คำตอบตามที่ต้องการ ทำให้ลูกค้าบางท่านเสียความรู้สึกเพราะบางท่านตั้งใจซื้อจริง ๆ ดังนั้นถ้าได้อ่านบทความดังต่อไปนี้ จะช่วยลดขั้นตอนการถาม และการค้นหาข้อมูลให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งตั้งใจจะใช้ภาษาคุยกันง่าย ๆ แบบไม่มีวิชาการมาเกี่ยวข้องมากให้ปวดหัว
คำถามที่มักถามกันบ่อย ๆ เช่น ต้องการติดจานดาวเทียม ช่วยแนะนำหน่อย, จานแต่ละแบบต่างกันอย่างไร, รับอะไรได้บ้าง
คำถามนี้มักจะได้รับการถามกลับว่า ลูกค้าต้องการดูรายการแบบไหน ประเทศอะไร ซึ่งก็มีความต้องการต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะเน้นดูทีวีไทย 6 ช่อง ซึ่งก็สามารถแนะนำให้ได้ว่า ทีวีไทย 6 ช่องนั้นส่งให้ดูอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบ KU-BAND และระบบ C-BAND
ระบบ Ku-band ก็ที่เราเห็นเป็นจานของ UBC DTV SAMART IPM นั่นแหละ จะเป็นจานทึบเล็ก ๆ แบน ๆ ขนาด 60-75 cm ระบบนี้ส่งทีวีไทยแต่จะเข้ารหัสไว้ ทำนองว่าดูฟรีไม่ได้ ต้องใช้เครื่องรับเฉพาะเท่านั้นถึงจะดูได้
ราคาเฉลี่ยสำหรับชุดรับทีวีไทยอยู่ที่ประมาณ 2,050-3,800 บาท แล้วแต่คุณภาพของเครื่องรับ และรายการที่เพิ่มขึ้นมา
ข้อดีของระบบนี้ คือ จานมีขนาดเล็กติดตั้งง่าย
ข้อเสีย คือ จะมีปัญหาเวลาฝนตกหนัก ๆ หรือบางครั้งเมฆครึ้มมาก ๆ อาจจะดูไม่ได้
ระบบ C-band จานที่ใช้รับสัญญาณระบบนี้ จะเป็นจานใหญ่ ๆ มีทั้งแบบทึบและแบบโปร่ง ทรงก้นลึกเหมือนกะทะ ขนาดตั้งแต่ 4.5-10 ฟุต ปัจจุบัน 90 % จะเน้นรับที่ดาวเทียม Thaicom2,5 เพราะทีวีไทยส่งที่ดาวเทียมดวงนี้
ราคาเฉลี่ยสำหรับชุดรับทีวีไทย ขนาด 4.2-6 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดที่นิยม จะอยู่ที่ประมาณชุดละ 1,750-2,900 บาท แล้วแต่ขนาดจานและคุณภาพของเครื่องรับ
ข้อดีของระบบนี้ คือ จำนวนช่องรายการที่ดูฟรีจะมีมากกว่า และไม่มีปัญหาเวลาฝนตก
ข้อเสีย คือ จานมีขนาดใหญ่
ที่นี้ เมื่อทั้ง 2 ระบบ ต่างก็ดูทีวีไทยได้เหมือนกัน ก็ต้องมาดูที่ความต่างของช่องรายการที่นอกเหนือจากทีวีไทย 6 ช่อง ว่าเราควรจะตัดสินใจเลือกระบบไหน และแบบไหนดี
มาดูที่ระบบ Ku-band ว่าจาน UBC DTV IPM และ SAMART มีอะไรต่างกันบ้าง
UBC หรือ TRUE VISION คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะทราบกันดีว่าดูอะไรได้บ้าง และต้องจ่ายเงินอย่างไร ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงในรายละเอียดนะครับ
DTV เป็นชุดรับทีวีไทยราคาถูก รับสัญญาณที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้จานสีเหลืองขนาดเล็กเพียง 60 ซ.ม. กับเครื่องรับ (Receiver) แบบถอดรหัสได้ในต้ว ทำให้สามารถรับทีวีไทย 6 ช่อง บวกกับช่องที่ส่งให้ดูฟรีอีก 22 ช่อง ได้แก่ ช่องเพื่อการศึกษา 15 ช่อง, ETV, MONEY, DMC, TVTV, TGN, ช่องรัฐสภา ก็ทำให้ชุด DTV ชุดนี้สามารถรับชมช่องรายการได้มากถึง 28 ช่องรายการ ปัจจุบันเริ่มมีรายการภาพยนต์ เพลง สารคดี เพิ่มขึ้นมา แต่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนนิดหน่อย ไม่แพงครับ (ราคา2,050 บาท)
SAMART DTH เป็นชุดรับทีวีไทยเหมือนกัน ใช้จาน 75 ซ.ม. รับสัญญาณที่ดาวเทียมไทยคม 5 ดูช่องรายการได้เหมือนกับ DTV ทุกอย่าง เพียงแต่มีรายการเพิ่มขึ้นมาให้ดูฟรีสำหรับท่านที่ใช้เครื่องรับ Samart โดยเฉพาะ ช่องที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ Siam-Sport, T-Sport, บุษบาคาเฟ่ ซึ่งช่องรายการต่าง ๆ ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม (ราคา 2,250 บาท) ** ปัจจุบันเลิกผลิตแล้ว
***การที่จะดูรายการเข้ารหัสของแต่ละยี่ห้อนั้น จำเป็นต้องใช้รีซีฟเวอร์ของยี่ห้อนั้น ๆ จึงจะสามารถรับสัญญาณได้ ส่วนรายการที่ส่งให้ดูฟรี สามารถใช้เครื่องอะไรรับก็ได้
***รายการต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ
คราวนี้มาดูที่ระบบC-band บ้าง
ปัจจุบันมีมากมายหลายยี่ห้อ ห้ำหั่นกันด้วยราคา คุณภาพก็พอใช้ได้ เพราะจะดีมากไม่ได้ เนื่องจากต่างก็พยายามทำให้ต้นทุนตัวเองต่ำที่สุด เพื่อการแข่งขันกันในตลาด ประโยชน์ตกอยู่ที่ลูกค้าที่สามารถซื้อหามาได้ในราคาถูกกว่าเมื่อก่อนมาก ราคา ณ ปัจจุบัน คาดว่าใกล้จะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ถ้าราคาลงมากกว่านี้ รับรองว่าคุณภาพสินค้าจะต้องลดลงไปด้วย เช่น จานต้องมีขนาดเล็กลง บางลง เครื่องรับก็ต้องลดคุณภาพลงไปอีก บอบบางลง ตัดฟังชั่นค์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ออก ซึงปัจจุบันก็ตัดจนไม่รู้จะตัดอะไรแล้ว เหลือแต่ภาพกับเสียง ก็เลือกซื้อหากันได้ตามอัธยาศัยครับ
ที่เกริ่นมาซะเยอะในเรื่องของระบบ C-band นั้น เนื่องจากสินค้ามีมากมายหลายยี่ห้อและหลายขนาด ไม่เหมือนระบบ Ku-band ซึ่งมีให้เลือกไม่กี่แบบ และต่างก็มีจุดขายในตัวเองอยู่แล้ว ทำให้เลือกได้ง่าย แต่ระบบ C-band นี่ รายการที่ส่งฟรีนั้น ทุกยี่ห้อก็รับได้เหมือนกันหมด (ยกเว้นบางรุ่นส่งรายการที่เข้ารหัส ซึ่งจะแยกออกไปก่อน) คราวนี้ก็ต้องมาดูว่าจะเลือกซื้ออย่างไร
ยี่ห้อ ดูยี่ห้อที่มีชื่อเสียงไว้ใจได้ ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบด้วย เพราะถ้าไม่ดีจริง รับรองว่าอยู่ในตลาดนี้ไม่ได้นานครับ จะต้องมีอันเป็นไปแน่นอน
ราคา ถ้าเป็นจานดูขนาดเทียบกันฟุตต่อฟุต แน่นอนยิ่งใหญ่ยิ่งดี และยิ่งแพงครับ ถ้าขนาดเท่ากันต้องดูราคาส่วนต่างว่า ชุดที่ราคาสูงกว่ามีอะไรที่เหนือกว่า และคุ้มค่ากับราคาที่สูงกว่าหรือไม่
คุณภาพ แทบจะบอกได้ว่า ราคากับคุณภาพแยกกันไม่ออกเลย สินค้าคุณภาพดีกว่าย่อมแพงกว่าเป็นเรื่องธรรมดาครับ
บริการ ดูว่าเมื่อสินค้ามีปัญหา ยี่ห้อไหนให้บริการและรับผิดชอบดีกว่า เลือกยี่ห้อนั้นครับ ทุกวันนี้ของราคาถูก ต้องเน้นเรื่องนี้กันไว้ก่อน เพราะมีโอกาสได้ใช้บริการแน่ครับ
เมื่อเรารู้แล้วว่าแต่ละยี่ห้อก็สามารถรับรายการได้เหมือน ๆ กัน คราวนี้ก็ต้องมาดูที่คุณภาพของสินค้าและราคาเป็นหลัก
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า อุปกรณ์ที่จะทำให้สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้นั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. จานรับสัญญาณดาวเทียม มีหน้าที่ทำการสะท้อนสัญญาณที่ส่งมาจาดาวเทียมเข้า LNBF
2. LNBF ทำหน้าที่รับสัญญาณที่สะท้อนมาจากจาน และแปลงให้เป็นความถี่ต่ำ ก่อนที่จะขยายสัญญาณเพื่อส่งต่อไปยังเครื่องรับสัญญาณ หรือที่เรียกกันว่า Receiver โดยใช้ สาย RG-6U เป็นตัวนำสัญญาณ
3. เครื่องรับสัญญาณ หรือ Receiver มีหน้าที่แปลงสัญญาณที่ได้รับจาก LNBF เป็นภาพและเสียงให้เรารับชม
ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ก็ไม่สามารถรับชมรายการได้แน่นอน ดังนั้นท่านที่ชอบถามเวลาเจอสินค้าที่เป็นหน้าจาน หรืออุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง ว่าสามารถรับอะไรได้บ้าง จะได้ทราบว่า การจะรับได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ข้อข้างต้นนี้ครับ
ใช้จานขนาดไหนดี
จานขนาดเล็กย่อมราคาถูกกว่าขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากรายการที่ส่งมาจากดาวเทียมนั้นมีหลายความถี่มาก บางความถี่ก็แรง บางความถี่ก็อ่อน ความถี่อ่อนก็ต้องการจานขนาดใหญ่ที่สามารถสะท้อนสัญญาณได้มาก เพื่อให้ได้คุณภาพสัญญาณที่เพียงพอ ดังจะเห็นว่าถ้าคุณภาพของสัญญาณไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดปัญหาต่อภาพที่ได้ คือ จะทำให้ภาพเป็นโมเสค หรือกระตุกเป็นช่วง ๆ
ดังนั้นก็อยู่ที่ลูกค้าว่าจะต้องการดูช่องที่สัญญาณอ่อนหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการดู ก็สามารถใช้จานขนาดเล็กลงได้ ทำให้ประหยัดทั้งเงินและพื้นที่ติดตั้งได้อีกนิดหน่อย
ปัจจุบัน ช่องที่สัญญาณอ่อน คือ ช่องพม่า, BVN, TEN TV, กัมพูชา ถ้าไม่เน้นช่องพวกนี้ ต้องการรับแต่ทีวีไทย ก็ใช้จานขนาด 4.2 หรือ 125 ซ.ม. ซึ่งอาจต้องใช้ฝีมือและความละเอียดในการปรับหน่อยนะครับ แต่ขนาดจานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ คือขนาด 5, 5.5 ฟุต หรือ 150, 170ซ.ม. แล้วแต่ว่ายี่ห้อไหนจะให้หน่วยวัดเป็นฟุตหรือเป็น ซ.ม.
*** แนะนำขนาดที่ไม่มีปัญหา ถ้าจะให้ดีก็ให้ใช้ 5.5 หรือ 170 ขึ้นไปครับ
สรุป
ขนาดจาน ของ Dynasat สำหรับรับทีวีไทย ปัจจุบันมีขนาด 5, 5.5, 6 ฟุต แต่ละรุ่นราคาต่างกันประมาณ 200-300 บาท
ขนาดจาน ของ PSI สำหรับรับทีวีไทย ปัจจุบันมีขนาด 150, 170, 185 ซ.ม. แต่ละรุ่นราคาต่างกันประมาณ 200-300 บาท
ขนาดจาน ของ Infosat สำหรับรับทีวีไทย ปัจจุบันมีขนาด 4.5, 5, 5.5 ฟุต แต่ละรุ่นราคาต่างกันประมาณ 200-300 บาท
ขนาดจาน ของ ideachun สำหรับรับทีวีไทย ปัจจุบันมีขนาด 125, 150, 160 ซ.ม. แต่ละรุ่นราคาต่างกันประมาณ 100-200 บาท